ประวัติมหาวิทยาลัย/วิทยาลัยและภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดตั้งขึ้นเมื่อเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตช่างฝีมือที่เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์จริงซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม “เทคนิคไทย – เยอรมัน” ในปีพ.ศ. 2514 วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือวิทยาลัยเทคนิคธนบุรีและวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรีได้รวมกันจัดตั้งเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล-อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า”เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2514 โดยมีวิทยาลัยทั้งสามแห่งเป็นวิทยาเขต แต่ละวิทยาเขตมีนามตามสถานที่ตั้งต่อท้ายนามพระราชทาน ดังนั้นวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือจึงใช้ชื่อว่า“สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตพระนครเหนือ”และเพื่อให้การจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ซึ่งเป็นคณะแรกของสถาบันบรรลุผลวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือเดิมจึงรวมเข้าเป็นภาควิชาหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์มีชื่อว่า“ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม”
ต่อมาในปีพุทธศักราช 2524 มีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม เป็นส่วนงานระดับภาควิชาที่มีหน้าที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน บริการวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์และภาษากับนักศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. ของภาควิชาเครื่องกล ภาควิชาไฟฟ้า และภาควิชาโยธา
ในปี พ.ศ.2536 วิทยาลัยจัดการเรียนการสอน ระดับปริญญาตรี (ต่อเนื่อง 2-3 ปี) อุตสาหกรรมศาสตรบันฑิต สาขาเทคโนโลยีเฉพาะทาง ภาควิชาบริการวิชาศึกษาทั่วไปให้กับนักศึกษาทุกหลักสูตร
ในปี พ.ศ. 2544 วิทยาลัยจัดการเรียนการสอน ระดับปริญญาตรี 4 ปี วิศวกรรมศาสตรบัณฑิตเทคโนโลยีเฉพาะทาง ภาควิชาบริการพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาศึกษาทั่วไป ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และคณะศิลปศาสตร์ประยุกต์ โดยให้คุณภาพการเรียนการสอนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งมหาวิทยาลัย
ในปี พ.ศ. 2556 ถึงปัจจุบัน ภาควิชาฯ ได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการจัดการนวัตกรรมเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม (สหวิทยาการ) (Master of Science Program in Innovation Management for Business and Industry) โดยในปัจจุบันได้รับนักศึกษาทั้งหมด 3 รุ่นและกำลังรับเพิ่มเติมในรุ่นที่ 4 ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2558
สถานภาพปัจจุบันของภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์และสังคม มีการแบ่งหน่วยงานภายในภาควิชาออกเป็น 5 หน่วยงานย่อย ได้แก่ สำนักงานภาควิชา สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมและธุรกิจ และสาขาวิชาภาษา โดยยังคงให้บริการวิชาพื้นฐานสำหรับนักศึกษา ปวช. เตรียมวิศวกรรมศาสตร์ สังกัดโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ (ไทย-เยอรมัน) ภาควิชาบริการวิชาพื้นฐานวิชาชีพทางวิศวกรรมศาสตร์ (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี) ให้กับนักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยีวิศวกรรมเฉพาะทางของวิทยาลัย โดยร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และวิชาศึกษาทั่วไปร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ประยุกต์